จากกระบวนการเปลี่ยนอ้อยไปเป็นน้ำตาล มีผลพลอยได้ที่เกิดขึ้นคือกากอ้อย (Bagasses) กากหม้อกรองโคลน (Filter Cake) และกากน้ำตาล (Molasses) 3 สิ่งนี้ คือผลพลอยได้ที่มีมูลค่าและประโยชน์มหาศาล กากอ้อย (Bagasses) ใช้เป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไอน้ำและกระแสไฟฟ้า กากหม้อกรองโคลน (Filter Cake) นำไปเป็นสารปรับปรุงดินในพื้นที่เกษตรกรรม กากน้ำตาล (Molasses) คือวัตถุดิบตั้งต้นของการแปรรูปเป็นเอทานอล พลังงานทดแทนตามนโยบายพลังงานทางเลือกเพื่อความยั่งยืน
จากกระบวนผลิตเอทานอล มีน้ำกากส่า (Spent Wash) ที่ออกจากกระบวนการ เดิมเรานำไปใช้เป็นสารปรับปรุงดินในพื้นที่เกษตรกรรมโดยตรง แต่เราตระหนักว่าการใช้น้ำกากส่าที่ยังคงมีค่าความเข้มข้นของสารเจือปนสูงโดยตรงอาจส่งผลกระทบต่อดินในระยะยาวหากมีการใช้อย่างต่อเนื่อง และจากการศึกษาเราพบว่าน้ำกากส่าดังกล่าวมีคุณสมบัติที่สามารถใช้ประโยชน์ในการผลิตเป็นพลังงานทางเลือกใหม่ที่ยั่งยืนกว่า ดังนั้น เราจึงปรับเปลี่ยนนำน้ำเหล่านั้นเข้าระบบการบำบัดเพื่อผลิตเป็นก๊าซชีวภาพและสามารถนำก๊าซชีวภาพที่ได้ไปผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า แล้วจึงนำน้ำที่ผ่านการบำบัดไปทำเป็นสารปรับปรุงดินทั้งชนิดของเหลวและของแข็งเพื่อใช้กับพื้นที่เกษตรกรรมต่อไป
กระบวนการเหล่านี้ คือความมุ่งมั่นและตั้งใจจริงที่เราได้วางแผนจัดการให้ทุกของเสียหรือสิ่งที่เกิดจากกระบวนการผลิตของเรามีการจัดการอย่างเป็นระบบ ไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และไม่ปล่อยออกสู่ชุมชน
เทคโนโลยี
เพื่อสิ่งแวดล้อม
อากาศที่ระบายออกจากหม้อไอน้ำอาจเป็นหนึ่งในข้อกังวลของชุมชน เราจึงได้เลือกสรรเทคโนโลยีที่ทันสมัยจากต่างประเทศมาใช้กับระบบบำบัดอากาศ อาทิ ระบบดักจับฝุ่นแบบไฟฟ้าสถิต (ESP) ของบริษัท ไฟฟ้าสุรินทร์ จำกัด ระบบดักจับฝุ่นแบบเปียก (Wet Scrubber) ของ บริษัท อุตสาหกรรมโคราช จำกัด เป็นต้น เพื่อควบคุมให้ปริมาณฝุ่นละอองที่ระบายออกจากโรงงานต่ำกว่าค่าควบคุมที่กฎหมายบังคับใช้
น้ำที่ออกจากกระบวนการผลิต ในส่วนของกระบวนการผลิตน้ำตาลเราใช้ระบบการบำบัดภายในและวนกลับไปใช้ใหม่โดยไม่มีการปล่อยออกภายนอกหรือเรียกได้ว่าเป็น Zero Discharged น้ำจากกระบวนการผลิตเอทานอล (Spent Wash) นำไปผลิตเป็นก๊าซชีวภาพด้วยระบบถังกวนผสมแบบสมบูรณ์ (Complete Stirred Tank Reactor) และระบบบ่อผลิตก๊าซชีวภาพ (Modify Cover Lagoon) หรือน้ำที่ออกจากกระบวนการผลิตก๊าซชีวภาพเรายังมีการใช้เทคโนโลยีลดปริมาณน้ำโดยใช้เทคโนโลยีแบบการต้มระเหย (Evaporation) ก่อนนำไปเป็นสารปรับปรุงดินทั้งชนิดของเหลวและของแข็ง
มุ่งมั่นพัฒนา
องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีมติเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2553 ให้กับบริษัท เคไอ ไบโอก๊าซ จำกัด หนึ่งในสมาชิกน้ำกลุ่มน้ำตาลเคไอ ให้เป็นโครงการตามกลไกการพัฒนาพลังงานที่สะอาดในชื่อ KI Biogas Co’, Ltd. Wastewater Treatment for Energy Generation, Nakhon Ratchasima เป็นโครงการที่สนับสนุนต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทย และเรายังได้เข้าร่วมในกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) และพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) และร่วมพัฒนากลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development mechanism project Activity – CDM) และสามารถขึ้นทะเบียน (Register) กับ UNFCCC ได้สำเร็จเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2556 ประเภทโครงการ Waste handling and disposal หมายเลขอ้างอิงโครงการ 6565 โดยนับเป็นโครงการแรกของประเทศไทยที่เริ่มกระบวนการจากผลิตน้ำตาล ไปสู่เอทานอล ก๊าซชีวภาพและไฟฟ้า ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนดังกล่าวกับ UNFCCC